บทความล่าสุด

บทความล่าสุด

วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เจดีย์หิน ณ แดนกะเหรี่ยง

            เมื่อประมาณต้นปี ๒๕๕๔ ข้าพเจ้า ผู้เขียนได้พักปฏิบัติธรรม อยู่ ณ สำนักสงฆ์ห้วยแร่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีหมู่คณะมาจากทางจันทบุรีประมาณ ๕ องค์ มากราบฟังธรรมจาก หลวงพ่อมนตรี อาภัสสโร ณ สวนพุทธธรรม และได้แวะมาเยี่ยมข้าพเจ้า และมี๓องค์อยู่ค้างคืนด้วย
            วันต่อมาจึงได้ชักชวนกันไปบ้านลีเซอร์ ซึ่งเคยอุปัฏฐากหลวงปู่สมัยมาบำเพ็ญธรรมที่แดนกระเหรี่ยง โดยอาศัยหลวงพ่อบุญเลิศซึ่งเป็นคนพื้นที่เป็นผู้นำทางไป
            เมื่อไปถึงบ้านจึงได้พบกับทองพูนซึ่งเป็นลูกชายของลีเซอร์จึงได้ทักทายกันเล็กน้อยแล้วจึงสอบถามประวัติสมัยเมื่อหลวงปู่ได้มาพักบำเพ็ญที่นี่ ทองพูนได้เล่าให้ฟังว่า
            สมัยก่อนพ่อ(ลีเซอร์) ไม่ได้อยู่ที่ป่าละอูแห่งนี้ แต่อยู่ที่แพรกตะคร้อ  อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ แต่ทางราชการได้ให้ย้ายครอบครัวออกมาจากเขตป่า และแบ่งจัดสรรรที่ให้ทำกิน ตั้งแต่นั้นมาจึงอยู่ที่ป่าละอูแห่งนี้
สมัยที่พ่อพบกับหลวงปู่ครั้งแรกนั้น ผมยังไม่เกิด ถ้าอยากรู้รายละเอียดในช่วงนั้น ต้องไปถามโยมอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นชาวกระเหรี่ยงเหมือนกัน คณะของเราจึงได้ไปหาโยมคนนั้น(จำชื่อไม่ได้ต้องขออภัย) โยมคนนั้นอายุประมาณ ๗๐ กว่าปี พูดภาษาไทยไม่ได้ คณะเราจึงต้องอาศัยให้ทองพูนเป็นล่ามแปลให้
โยมคนนั้น เล่าว่า “ สมัยที่หลวงปู่มาภาวนาทีแรกนั้น(ปี ๒๕๐๓) ผมยังเป็นเด็ก อายุประมาณ ๑๗ ปี  ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักหลวงปู่  เห็นท่านมาพักอยู่ที่ต้นทุเรียน (น่าแปลกที่ในป่ามีต้นทุเรียนด้วย) ไม่มีใครกล้าเข้าไปใกล้ ได้แต่ด้อม ๆ มอง ๆ อยู่ไกล ๆ ต่างคนก็แปลกใจเพราะว่า เห็นท่านนั่งอยู่เฉย ๆ เดี๋ยวก็เดินไปเดินมา และไม่เห็นกินอะไร ท่านก็อยู่ของท่านอย่างนั้นเป็นเดือน.  คืนหนึ่งมีคนเห็นดวงไฟลอยไปทางที่หลวงปู่อยู่ และหายวับไป วันรุ่งขึ้นจึงชักชวนกันไปดูร่องรอยของดวงไฟ จึงได้รู้ว่าไปทางที่หลวงปู่อยู่แน่ ๆ จึงได้ปรึกษากันจะไปหาหลวงปู่ แต่เมื่อเข้าไปแล้วก็คุยกันไม่รู้เรื่อง พอดีมีหญิงชาวกระเหรี่ยงคนหนึ่ง เคยไปอยู่ในเมือง พูดภาษาไทยได้บ้าง จึงเป็นตัวแทนสนทนากับหลวงปู่ และได้ทราบว่าหลวงปู่ไม่ได้ฉันอาหารมาเป็นเดือนแล้ว (เรื่องตอนนี้มีกล่าวในประวัติหลวงปู่อยู่แล้วจึงไม่ขอกล่าวต่อไป)
และโยมยังเล่าให้ฟังอีกว่า “มีอยู่วันหนึ่ง หลวงปู่ให้ทุกคนเอาหินมาคนละก้อน ขนาดประมาณ ๑ กำปั้น เมื่อเอามาแล้ว หลวงปู่ได้นำมาก่อเป็นเจดีย์ แล้วหลวงปู่ให้เอาไม้มาปักไว้ ๔ ด้าน และบอกให้โยมกดไม้ไว้ แล้วหลวงปู่ก็เดินรอบเจดีย์หิน ปรากฏว่าไม้นั้นก็ลอยขึ้นมา โยมจึงกดลงไปแต่ปรากฎว่ากดไม่ลง ออกแรงจุดสุดแรงก็กดไม่ลง แต่เมื่อหลวงปู่เดินวนรอบมาถึง ท่านเอามือมาช่วยกดไม้จึงจมลงเหมือนเดิม  แล้วหลวงปู่ก็เดินอีกรอบ ก็ปรากฏว่าไม้นั้นก็ลอยขึ้นมาอีก หลวงปู่ก็ต้องมาช่วยกดให้อีก แล้วก็เดินอีกเป็นรอบที่สาม ไม้ก็ลอยขึ้นมาอีก หลวงปู่จึงเอามือมาช่วยกดลงอีก เมื่อท่านเดินครบ ๓ รอบแล้ว ไม้ก็ไม่ลอยขึ้นมาอีกเลย เป็นเรื่องที่แปลกมาก”
ผู้เขียนจึงถามว่า “ทำไมไม้ถึงลอยขึ้นมาได้”
โยมตอบว่า “ไม่ทราบว่าลอยขึ้นมาได้ยังไง ทีแรกก็ปักอยู่ในดิน เมื่อหลวงปู่เดินรอบก็ลอยขึ้นมา หลวงปู่ก็บอกให้กดลงไปซี่ ผมกดยังไงก็กดไม่ลง จนหลวงปู่ต้องมาช่วยกดจึงยอมลง”
ผู้เขียนจึงถามว่า “แล้วหลวงปู่บอกไหมว่าก่อเจดีย์หินไว้ทำไม”
โยมตอบว่า “ผมไม่รู้เหมือนกันครับ ตอนนั้นผมเป็นเด็ก ไม่ได้สนใจอะไร หลวงปู่บอกให้กดไม้ก็กดไว้ ไม่ได้ถามอะไร เพราะคุยกันไม่รู้เรื่องด้วย”
และโยมยังเล่าต่อไปอีกว่า “หลังจากนั้นมา ก็หลายปีเหมือนกัน พวกผมลงมาอยู่ที่นี่แล้ว(ป่าละอู) มีกระเหรี่ยงที่นับถือศาสนาคริสต์ ทำการลบหลู่เจดีย์หินที่หลวงปู่ได้ก่อไว้ โดยการทำลายและพูดจาสบประมาท ปรากฎว่าเมื่อกลับมาถึงบ้านก็มีอาการเจ็บป่วยเหมือนคนจะตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ต่อมานึกได้ว่าเคยสบประมาทเจดีย์หินไว้  จึงให้คนมาส่งและขอขมาแด่เจดีย์หิน อาการที่ป่วยจึงหาย และทุกวันนี้เจดีย์ก็ยังอยู่ แต่ได้ทำการตกแต่งบริเวณรอบ ๆ ให้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่เจดีย์ยังทรงไว้แบบเดิม“
เป็นที่น่าเสียดายว่า บ้านแพรกตะคร้ออยู่ไกลและทางทุรกันดาร จึงไม่สามารถเข้าไปถ่ายภาพเจดีย์มาให้ท่านผู้อ่านชมได้ แต่ก็คิดว่าถ้ามีโอกาสในวันข้างหน้าต้องไปให้ได้
เป็นเรื่องน่าแปลกที่ว่า เจดีย์หินนี้ หลวงปู่ให้ก่อไว้ทำไม หรือเป็นความปรารถนาของหลวงปู่ที่ต้องการให้ทุกคนที่มาช่วยสร้างเจดีย์นี้ มีบารมีผูกพันร่วมกับท่าน เมื่อเกิดมาชาติใด ก็ได้มาพบปะกันพร้อมทั้งสร้างบารมีร่วมกันตลอดไปทุกภพทุกชาติ
เมื่อเขียนมาถึงจุดนี้ผู้เขียนนึกถึงพระคุณของหลวงปู่อย่างสุดซึ้ง ด้วยเหตุที่ว่า บุคคลที่มีสายบารมีร่วมกันกับท่านนั้นแม้อยู่ไกลแสนไกลเพียงใด ท่านก็ยังอุตส่าห์เข้าไปโปรดเทศนาอบรมสั่งสอนให้นับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง และสอนให้ประพฤติตนตามหลักของพระพุทธศาสนา มี ทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น

๒ มิถุนายน ๒๕๕๔

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น