บทความล่าสุด

บทความล่าสุด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จวัดเขาสุกิม

ทรงประกอบพิธีพิธีเททองหล่อพระประธาน เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2520

สมเด็จพระมงคลมุนีไพรีพินาศศาสดาจารย์

ประดิษฐานหน้าวัดเขาสุกิม

ภาพจำลองจากสถานที่จริง เจดีย์บูรพาฐิตวิริยาประชาสามัคคี

ปัจจุบันกำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ด้านทิศตะวันออกของวัด

หุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ภายในวิหารบูรพาจารย์อุทิศ

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต (ซ้าย) หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล(ขวา) บูรพาจารย์ของวัดป่ากรรมฐานทั่วประเทศไทย

พระวิสุทธิญาณเถร (หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย) ผู้ก่อตั้งวัดเขาสุกิม

ภาพถ่ายที่ภูวัว สถานที่หลวงปู่ฯได้เข้าถึงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

กามราคะหมดราบคาบ

มีอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนยังได้แม่นยำมาจนถึงทุกวันนี้ คือก่อนบวชนั้นผู้เขียนได้ตั้งใจไว้ว่า อยากฝากตัวเป็นลูกศิษย์กับครูบาอาจารย์ที่ท่านมีคุณธรรม เพื่อให้ตัวเองปฏิบัติได้ถูกทาง ไม่เสียเวลา จึงอยากรู้ว่าองค์หลวงปู่ท่านบรรลุธรรมถึงขั้นไหน ซึ่งผู้เขียนได้เดาไว้ในใจว่าท่านบรรลุธรรมแล้วแน่ ๆ แต่สงสัยว่าถึงขึ้นไหน จึงลองเลียบเคียงถามพระเก่า ๆ ที่อยู่ในวัด ก็ไม่มีใครบอก ท่านให้เหตุผลว่าเรื่องอย่างนี้เค้าไม่พูดกัน เพราะอาจจะมีผลเสียตามมาได้ เมื่อท่านให้เหตุผลอย่างนั้นเราจึงนิ่งเสียไม่ถามใครต่อ แต่ก็ยังเก็บความสงสัยไว้ในใจอยู่  แล้วอยู่มาวันหนึ่งในพรรษา ปี ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นปีที่ผู้เขียนบวชนั้นเอง ก็ได้คำตอบ คือวันนั้นพระเณรได้ขึ้นไปอุปัฏฐากหลวงปู่ตามปกติ มีพระเณรขึ้นไปไม่กี่คน เพราะส่วนมากไปบิณฑบาต แต่ผู้เขียนไม่ได้ไป (ด้วยเหตุผลอะไรจำไม่ได้แล้ว อาจเป็นเพราะอดข้าวจึงไม่ไปบิณฑบาตก็เป็นได้) และระหว่างที่นวดยาถวายท่านนั้น ท่านก็ปรารภขึ้นมาว่า “ผมนี้ จะว่าเป็นพระอรหันต์ก็ว่าได้ เพราะกามราคะหมดราบคาบแล้วทั้งกายและใจ ตั้งแต่อายุ ๕๕ แต่มันติดอยู่นิดเดียว สมัยก่อนที่ประเทศอินเดียนั้น ถ้าใครอวดตนว่าเป็นพระอรหันต์ เค้าจะพากันพิสูจน์อรหันต์ โดยให้เสพสังวาสกับผู้หญิง ถ้าของฝ่ายชายแข็งตัวขึ้นล่ะก็จับสึกทันที แต่ของผมนั้นรับรองไม่มี เพราะมันหมดราบคาบไปแล้ว"

มิถุนายน 2554 

อย่าไปกด อย่าไปดัน อย่าไปเพ่ง ให้รับรู้เฉย ๆ

ผู้เขียน ได้เข้ามาบวชอยู่กับหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ตั้งแต่ ปี ๒๕๔๐ และคิดว่าตัวเองโชคดีมากที่ยังพอได้ฟังเทศน์หลวงปู่ฯอยู่บ้าง เพราะปีนั้นรู้สึกจะเป็นปีสุดท้ายที่หลวงปู่เทศน์อบรพระเณรในเรื่องการปฏิบัติภาวนา
การที่เราบวชใหม่นั้น ก็ย่อมมีการทำอะไรที่ผิด ๆ แปลก ๆ เป็นธรรมธรรมดา จึงขอเล่าประสบการณ์ของผู้เขียนเองคือ มีอยู่วันหนึ่ง ที่ตึกธรรมวิจัย ชั้นที่ ๒  ผู้เขียนได้ไปภาวนาที่นั้น โดยยึดหลักแบบอานาปานสติสูตร คือลมหายใจเข้าสั้นก็รู้ ลมหายใจยาวก็รู้ ซึ่งศึกษามาจากตำราตั้งแต่แต่ก่อนบวช เมื่อทำไปได้สักพักนึง ผู้เขียนก็มีความคิดสัปดนเล็กน้อยอยากจะหาวิธีให้จิตสงบเร็ว ๆ  จึงได้ลองกำหนดลมหายใจ โดยหายใจให้ยาว ๆ ซึ่งยาวมากเป็นนาทีบ้าง สองนาที สามนาทีบ้าง ในการหายใจแต่ละครั้ง แล้วก็ลองกำหนดลมหายใจให้สั้นบ้างคือหายใจเข้าออกนิดหนึ่งแล้วก็หยุดไว้ เมื่อทำได้สักพักหนึ่งหนึ่งก็มีความรู้สึกที่แปลกดีเหมือนกัน คือจะมีความรู้สึกอยู่ที่ลมหายใจเท่านั้น ส่วนความรู้สึกของร่างกายมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ก็รู้สึกมีความอึดอัดเพิ่มขึ้นมาด้วย ทำไปได้สักชั่วโมงครึ่งแล้วก็เลิกไปทำกิจธุรอย่างอื่นต่อ
วันรุ่งขึ้น ก็ขึ้นไปอุปัฏฐากเหมือนอย่างเคย คือธรรมเนียมของพระเณรในวัดเขาสุกิมถ้าวันไหนมีเจ้าภาพถวายภัตตาหาร วันนั้นพระเณรไม่ต้องบิณฑบาต จะขึ้นไปอุปัฏฐากหลวงปู่ ซึ่งก่อนจะขึ้นไปถึงกุฏิหลวงปู่ ต้องเดินจงกรมรอที่ดาดฟ้าชั้นที่ ๔ เพื่อรอให้พระอุปัฏฐากมาเปิดประตูจึงจะขึ้นไปกุฏิหลวงปู่ได้  ซึ่งวันนั้นผู้เขียนก็ขึ้นไปถวายการอุปัฏฐากพร้อมกับพระเณรทั่วไปตามปกติ และวันนั้นพิเศษหน่อย ท่านได้ปรารภธรรมปฏิบัติเล็กน้อยว่า “ผมเห็นพระเณรเดินจงกรมก็ดีใจ เป็นไม่เป็นก็เดินไปเถอะ เดี๋ยวก็เป็นไปเอง การทำของเรานั้น ต้องค่อย ๆ ตะล่อม อย่าไปโมโห ให้ทำด้วยความนุ่มนวล  แล้ว อย่าไปกด อย่าไปดัน อย่าไปเพ่งมันนะ  ให้รับรู้เฉย ๆ บางองค์ไปกำหนดลมหายใจให้มันสั้น ไปกำหนดให้มันยาว อย่าไปทำอย่างนั้น ให้รับรู้เฉย ๆ ก็พอแล้ว ให้เราคิดว่าชาตินี้เอาเนกขัมบารมี ให้ตั้งใจกันเถอะ ข้างบนนี้น่าเดิน เมื่อทำวัตรเสร็จแล้วให้รีบขึ้นมา ให้ได้เช้ารอบนึง เย็นรอบนึง ค่ำรอบนึง ถ้าเราทำได้อย่างนี้ จะไปไวกว่าคนที่ภาวนามาเป็น ๑๐ ปีอีก สมัยก่อนที่ผมภาวนาอยู่ในป่า ไฟก็ไม่มี เดินมืด ๆ ก็ต้องระวัง ทั้งงู ทั้งตะขาบ ทั้งแมงป่อง จะมาทำอันตรายเอา แต่ที่นี่น่าเดินมาก ปลอดภัยทุกอย่าง ให้พากันตั้งอกตั้งใจเถอะ”  เมื่อท่านปรารภเสร็จแล้วท่านก็ลงมารับแขกตามปกติ แต่ผู้เขียนกลับมีความสงสัยว่า เอ๊ หลวงปู่ท่านว่าเราไปกำหนดลมหายใจให้มันสั้นให้มันยาวหรือเปล่า ถ้าอย่างนั้นเราเลิกทำแบบนั้นดีกว่า และตั้งแต่วันนั้นมา ผู้เขียนได้ยึดแนวทางปฏิบัติตามแบบหลวงปู่มาโดยตลอด

มิถุนายน 2554

เจดีย์หิน ณ แดนกะเหรี่ยง

            เมื่อประมาณต้นปี ๒๕๕๔ ข้าพเจ้า ผู้เขียนได้พักปฏิบัติธรรม อยู่ ณ สำนักสงฆ์ห้วยแร่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีหมู่คณะมาจากทางจันทบุรีประมาณ ๕ องค์ มากราบฟังธรรมจาก หลวงพ่อมนตรี อาภัสสโร ณ สวนพุทธธรรม และได้แวะมาเยี่ยมข้าพเจ้า และมี๓องค์อยู่ค้างคืนด้วย
            วันต่อมาจึงได้ชักชวนกันไปบ้านลีเซอร์ ซึ่งเคยอุปัฏฐากหลวงปู่สมัยมาบำเพ็ญธรรมที่แดนกระเหรี่ยง โดยอาศัยหลวงพ่อบุญเลิศซึ่งเป็นคนพื้นที่เป็นผู้นำทางไป
            เมื่อไปถึงบ้านจึงได้พบกับทองพูนซึ่งเป็นลูกชายของลีเซอร์จึงได้ทักทายกันเล็กน้อยแล้วจึงสอบถามประวัติสมัยเมื่อหลวงปู่ได้มาพักบำเพ็ญที่นี่ ทองพูนได้เล่าให้ฟังว่า
            สมัยก่อนพ่อ(ลีเซอร์) ไม่ได้อยู่ที่ป่าละอูแห่งนี้ แต่อยู่ที่แพรกตะคร้อ  อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ แต่ทางราชการได้ให้ย้ายครอบครัวออกมาจากเขตป่า และแบ่งจัดสรรรที่ให้ทำกิน ตั้งแต่นั้นมาจึงอยู่ที่ป่าละอูแห่งนี้
สมัยที่พ่อพบกับหลวงปู่ครั้งแรกนั้น ผมยังไม่เกิด ถ้าอยากรู้รายละเอียดในช่วงนั้น ต้องไปถามโยมอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นชาวกระเหรี่ยงเหมือนกัน คณะของเราจึงได้ไปหาโยมคนนั้น(จำชื่อไม่ได้ต้องขออภัย) โยมคนนั้นอายุประมาณ ๗๐ กว่าปี พูดภาษาไทยไม่ได้ คณะเราจึงต้องอาศัยให้ทองพูนเป็นล่ามแปลให้
โยมคนนั้น เล่าว่า “ สมัยที่หลวงปู่มาภาวนาทีแรกนั้น(ปี ๒๕๐๓) ผมยังเป็นเด็ก อายุประมาณ ๑๗ ปี  ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักหลวงปู่  เห็นท่านมาพักอยู่ที่ต้นทุเรียน (น่าแปลกที่ในป่ามีต้นทุเรียนด้วย) ไม่มีใครกล้าเข้าไปใกล้ ได้แต่ด้อม ๆ มอง ๆ อยู่ไกล ๆ ต่างคนก็แปลกใจเพราะว่า เห็นท่านนั่งอยู่เฉย ๆ เดี๋ยวก็เดินไปเดินมา และไม่เห็นกินอะไร ท่านก็อยู่ของท่านอย่างนั้นเป็นเดือน.  คืนหนึ่งมีคนเห็นดวงไฟลอยไปทางที่หลวงปู่อยู่ และหายวับไป วันรุ่งขึ้นจึงชักชวนกันไปดูร่องรอยของดวงไฟ จึงได้รู้ว่าไปทางที่หลวงปู่อยู่แน่ ๆ จึงได้ปรึกษากันจะไปหาหลวงปู่ แต่เมื่อเข้าไปแล้วก็คุยกันไม่รู้เรื่อง พอดีมีหญิงชาวกระเหรี่ยงคนหนึ่ง เคยไปอยู่ในเมือง พูดภาษาไทยได้บ้าง จึงเป็นตัวแทนสนทนากับหลวงปู่ และได้ทราบว่าหลวงปู่ไม่ได้ฉันอาหารมาเป็นเดือนแล้ว (เรื่องตอนนี้มีกล่าวในประวัติหลวงปู่อยู่แล้วจึงไม่ขอกล่าวต่อไป)
และโยมยังเล่าให้ฟังอีกว่า “มีอยู่วันหนึ่ง หลวงปู่ให้ทุกคนเอาหินมาคนละก้อน ขนาดประมาณ ๑ กำปั้น เมื่อเอามาแล้ว หลวงปู่ได้นำมาก่อเป็นเจดีย์ แล้วหลวงปู่ให้เอาไม้มาปักไว้ ๔ ด้าน และบอกให้โยมกดไม้ไว้ แล้วหลวงปู่ก็เดินรอบเจดีย์หิน ปรากฏว่าไม้นั้นก็ลอยขึ้นมา โยมจึงกดลงไปแต่ปรากฎว่ากดไม่ลง ออกแรงจุดสุดแรงก็กดไม่ลง แต่เมื่อหลวงปู่เดินวนรอบมาถึง ท่านเอามือมาช่วยกดไม้จึงจมลงเหมือนเดิม  แล้วหลวงปู่ก็เดินอีกรอบ ก็ปรากฏว่าไม้นั้นก็ลอยขึ้นมาอีก หลวงปู่ก็ต้องมาช่วยกดให้อีก แล้วก็เดินอีกเป็นรอบที่สาม ไม้ก็ลอยขึ้นมาอีก หลวงปู่จึงเอามือมาช่วยกดลงอีก เมื่อท่านเดินครบ ๓ รอบแล้ว ไม้ก็ไม่ลอยขึ้นมาอีกเลย เป็นเรื่องที่แปลกมาก”
ผู้เขียนจึงถามว่า “ทำไมไม้ถึงลอยขึ้นมาได้”
โยมตอบว่า “ไม่ทราบว่าลอยขึ้นมาได้ยังไง ทีแรกก็ปักอยู่ในดิน เมื่อหลวงปู่เดินรอบก็ลอยขึ้นมา หลวงปู่ก็บอกให้กดลงไปซี่ ผมกดยังไงก็กดไม่ลง จนหลวงปู่ต้องมาช่วยกดจึงยอมลง”
ผู้เขียนจึงถามว่า “แล้วหลวงปู่บอกไหมว่าก่อเจดีย์หินไว้ทำไม”
โยมตอบว่า “ผมไม่รู้เหมือนกันครับ ตอนนั้นผมเป็นเด็ก ไม่ได้สนใจอะไร หลวงปู่บอกให้กดไม้ก็กดไว้ ไม่ได้ถามอะไร เพราะคุยกันไม่รู้เรื่องด้วย”
และโยมยังเล่าต่อไปอีกว่า “หลังจากนั้นมา ก็หลายปีเหมือนกัน พวกผมลงมาอยู่ที่นี่แล้ว(ป่าละอู) มีกระเหรี่ยงที่นับถือศาสนาคริสต์ ทำการลบหลู่เจดีย์หินที่หลวงปู่ได้ก่อไว้ โดยการทำลายและพูดจาสบประมาท ปรากฎว่าเมื่อกลับมาถึงบ้านก็มีอาการเจ็บป่วยเหมือนคนจะตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ต่อมานึกได้ว่าเคยสบประมาทเจดีย์หินไว้  จึงให้คนมาส่งและขอขมาแด่เจดีย์หิน อาการที่ป่วยจึงหาย และทุกวันนี้เจดีย์ก็ยังอยู่ แต่ได้ทำการตกแต่งบริเวณรอบ ๆ ให้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่เจดีย์ยังทรงไว้แบบเดิม“
เป็นที่น่าเสียดายว่า บ้านแพรกตะคร้ออยู่ไกลและทางทุรกันดาร จึงไม่สามารถเข้าไปถ่ายภาพเจดีย์มาให้ท่านผู้อ่านชมได้ แต่ก็คิดว่าถ้ามีโอกาสในวันข้างหน้าต้องไปให้ได้
เป็นเรื่องน่าแปลกที่ว่า เจดีย์หินนี้ หลวงปู่ให้ก่อไว้ทำไม หรือเป็นความปรารถนาของหลวงปู่ที่ต้องการให้ทุกคนที่มาช่วยสร้างเจดีย์นี้ มีบารมีผูกพันร่วมกับท่าน เมื่อเกิดมาชาติใด ก็ได้มาพบปะกันพร้อมทั้งสร้างบารมีร่วมกันตลอดไปทุกภพทุกชาติ
เมื่อเขียนมาถึงจุดนี้ผู้เขียนนึกถึงพระคุณของหลวงปู่อย่างสุดซึ้ง ด้วยเหตุที่ว่า บุคคลที่มีสายบารมีร่วมกันกับท่านนั้นแม้อยู่ไกลแสนไกลเพียงใด ท่านก็ยังอุตส่าห์เข้าไปโปรดเทศนาอบรมสั่งสอนให้นับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง และสอนให้ประพฤติตนตามหลักของพระพุทธศาสนา มี ทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น

๒ มิถุนายน ๒๕๕๔

สายรกตะพายแล่ง

ผู้เขียนได้มีโอกาส ไปร่วมลงอุโบสถทำสังฆกรรม สวดพระปาฏิโมกข์ ณ วัดเขาต้นเกตุ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีพระเนกขัมมุนี (หลวงปู่ก้าน ฐิตธัมโม) เป็นประธาน เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เมื่อเสร็จจากลงอุโบสถแล้ว พระบางส่วนจะตามไปส่งหลวงปู่ก้านถึงกุฏิ ผู้เขียนจึงตามไปด้วย และวันนั้น ท่านพระอาจารย์สุชาติ เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านวไลย ซึ่งเป็นวัดที่ผู้เขียนอาศัยอยู่ในขณะนั้น  ได้ปรารภถึงเรื่องที่จะไปร่วมงานทำบุญครบรอบวันมรณภาพหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ปีที่ ๖ ในวันที่ ๑๗-๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๔ ให้หลวงปู่ก้านฟัง เมื่อกล่าวเสร็จแล้ว หลวงปู่ก้านท่านจึงได้กล่าวถึงประวัติหลวงปู่สมชายเล็กน้อยดังนี้
“ หลวงปู่สมชายท่านเคยมาพักที่นี่ระยะหนึ่ง  แล้วก็เข้าไปบำเพ็ญในป่า แล้วจึงออกมาพักที่นี่อีก มีลูกศิษย์ติดตามออกมาส่งมากมาย เป็นชาวกระเหรี่ยง แล้วท่านก็เล่าติดตลกว่า ท่านเอาน้ำมาเลี้ยงต้อนรับคณะของหลวงปู่และญาติโยมชาวกระเหรี่ยงและได้เอากระโถนมาวางไว้ด้วยตามธรรมเนียม พวกกระเหรี่ยงนั้น ก็เทน้ำใส่กระโถนแล้วก็กินโดยใช้กระโถนแทนแก้ว ท่านพูดจบก็หัวเราะเบา ๆ แล้วจึงพูดต่อไปว่า หลวงปู่สมชายท่านพักอยู่ที่นี่ไม่นาน แล้วก็ไปจังหวัดชุมพร ทีหลังได้ข่าวว่าไปที่จันทบุรีวัดหลวงปู่ฟัก และต่อมาก็ได้มาสร้างวัดเขาสุกิม
ที่ท่านมาพักกับผมนั้น ก็เพราะว่าเป็นลูกศิษย์ครูบาอาจารย์องค์เดียวกัน(คือหลวงปู่มั่น)  อุปัชฌาย์องค์เดียวกัน คือพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ท่านว่าตอนเกิดมา นั้น มีสายรกตะพายแล่ง คนที่มีสายรกตะพายแล่งนั้นจะเป็นคนที่ทำอะไรทำจริง (ตอนนี้ท่านพูดเน้นเสียง ช้า ๆ ชัด ๆ) และคุณตาซึ่งเป็นผู้นำศาสนาฮินดูในสมัยนั้น เมื่อเห็นดังนั้น จึงได้ทำนายไว้ว่า เด็กนี้โตขึ้นมาจะทำลายเรา (หมายถึง ทำลายศาสนานาฮินดูซึ่งท่านเป็นหัวหน้าอยู่ในขณะนั้น)”
ผู้เขียนได้ซักขึ้นเพื่อต้องการรายละเอียดที่ชัดเจน ทั้งที่รู่ว่าไม่สมควรว่า  “ขอโอกาสครับหลวงปู่ เรื่องนี้ไม่มีในหลังสือประวัติหลวงปู่”
หลวงปู่ก้านท่านจึงตอบขึ้นว่า “เรื่องนี้ท่านคุยให้ผมฟังเอง”

 ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔

ที่มาของ ประวัติหลวงปู่ ในส่วนที่ขาดหายไป

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ก่อนเข้าพรรษา ข้าพเจ้าฝันว่า ได้มีโอกาสสนองงานพระเดชพระคุณพระญาณวิลาศ เจ้าอาวาสวัดเขาสุกิม ทำหนังสือประวัติพระวิสุทธิญาณเถร (หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย) ที่ขาดหายไป ให้สมบูรณ์
แต่ทุกวันนี้ แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันจริง ๆ จัง ด้วยเหตุผลที่ว่า ๑. เราเป็นพระจะไปยึดอะไรเป็นจริงเป็นจังกับความฝัน ๒. เราจบเพียงแค่ ม.๓ มีความสามารถเพียงแค่พิมพ์หนังสือด้วยคอมพิวเตอร์ได้เท่านั้นเอง ซึ่งคงไม่เพียงพอที่จะทำในจุดนี้ได้ ๓. เราเป็นคนพูดไม่ค่อยเป็น และในการเรียบเรียงการเขียนหนังสือนั้นยิ่งไปกันใหญ่ ไม่เคยศึกษา และไม่เคยทำเลย  ดังนั้น ด้วยเหตุผล ๓ ข้อนี้  ข้าพเจ้าจึงไม่ได้กระทำตามความฝันนั้น และไม่ได้สนใจด้วย ปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาจนถึงบัดนี้ เป็นเวลา ๒ ปีแล้ว
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เนื่องด้วยผู้เขียน ได้บวชเป็นสามเณรตั้งแต่ ปี ๒๕๔๐ ซึ่งยังทันฟังเทศน์ของท่านอยู่บ้าง และเคยมีโอกาสพักปฏิบัติธรรม ตามสถานที่ที่หลวงปู่ท่านเคยอยู่มาก่อน เป็นเวลาหลายเดือน เช่น ภูเหล็ก ภูวัว ป่าละอู จึงได้มีโอกาส ได้พบปะพูดคุย กับบุคคลที่มีความสัมพันธ์ มีสายบารมีความเกี่ยวข้องกับหลวงปู่ ซึ่งเรื่องราวที่ได้ยินบางเรื่องก็ไม่ปรากฎในหนังสือประวัติหลวงปู่และไม่เคยเป็นที่เล่าขานกันในหมู่ของลูกศิษย์หลวงปู่เลย (หรืออาจจะมีแต่ผู้เขียนไม่เคยได้ยินก็เป็นได้)
วันนี้ หลังจากที่ได้ฟังหลวงปู่ก้าน(พระเนกขัมมมุนี) เล่าประวัติของหลวงปู่ฯให้ฟัง อยู่ ๆ ผู้เขียนเกิดความคิดขึ้นมาว่า บุคคลที่เคยมีประวัติมีความเกี่ยวข้องกับหลวงปู่ ส่วนมากจะมีอายุมาก ๆ ๗๐ ปีขึ้นไปทั้งนั้น ถ้าเราไม่รีบเรียบเรียงประวัติของหลวงปู่ในส่วนที่ขาดหายไปให้สมบูรณ์ในตอนนี้ และจะไปทำตอนไหน  ถ้าท่านเหล่านั้นเสียชีวิตไปก่อน ก็จะเป็นที่น่าเสียดายที่เรื่องราวดี ๆ ของหลวงปู่ ต้องอันตรธานไปพร้อมกับท่านเหล่านั้น
 ถ้าอย่างนั้นเราเอาอย่างนี้ดีกว่า เราจะทำเป็นดราฟท์ คือข้อมูลดิบ ๆ ใช้ภาษาหนังสือตามแบบฉบับที่เราจะพอกระทำได้ เก็บรวบรวมเรื่องราวต่าง  ๆ ไว้ เมื่อได้พอสมควรแล้ว จะมอบต้นฉบับนั้นถวายแด่ครูบาอาจารย์วัดเขาสุกิม แล้วแต่ท่านจะพิจารณาเห็นสมควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

มิถุนายน 2554